คณะศึกษาศาสตร์ มช. ส่งมอบหลักสูตรการเรียนรู้ในสวนราชพฤกษ์ให้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปใช้กับประชาชนโดยทั่วไป

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 4 ธันวาคม 2563
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 433 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. ส่งมอบหลักสูตรการเรียนรู้ในสวนราชพฤกษ์ให้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำไปใช้กับประชาชนโดยทั่วไป

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 คณาจารย์และนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มช. ส่งมอบหลักสูตรการเรียนรู้ในสวนราชพฤกษ์ให้กับอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปใช้กับประชาชนทุกช่วงวัย

กิจกรรมการเรียนรู้ถูกสร้างสรรค์และออกแบบผ่านการบูรณาการศาสตร์ความรู้ที่มีอยู่ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่มุ่งให้ผู้เข้ารับบริการเกิดความตระหนักถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพืชและศิลปวัฒนธรรมในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ทั้งหมด โดยสามารถนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามารับบริการที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 7 กลุ่ม ได้แก่ ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ประชาชนทั่วไป และผู้สูงอายุ

  • หลักสูตรการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายระดับปฐมวัยเป็นกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการทดลองปฏิบัติจริง การคิดสร้างสรรค์ และเน้นการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งมีกิจกรรมทั้งหมด 3 ชุด ชุดที่ 1 ประกอบด้วย กิจกรรมเมื่อพบกัน ฝนจากฟ้า และเครื่องบินหลวง กิจกรรมชุดที่ 2 ประกอบด้วยกิจกรรมสมุนไพรใกล้ตัวฉัน กิจกรรมชุดที่ 3 ประกอบด้วยกิจกรรมนาขั้นบันได ดินของพวกเรา และกิจกรรมการปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดิน
  • ในระดับประถมศึกษาตอนต้น กิจกรรมที่ออกแบบจะเน้นการสังเกตเพื่อจัดจำแนก พร้อมทั้งเน้นการมีความคิดสร้างสรรค์ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมแมกไม้หรรษา 2) กิจกรรมโตมาไร้ดิน ในเรื่องการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ (Hydroponic) และ 3) กิจกรรม 4 ท้องถิ่นสุดครื้นเครง
  • ระดับประถมศึกษาตอนปลาย มี 3 ชุดกิจกรรม ได้แก่ ชุดที่ 1 กิจกรรม Rose’ Perfect Match (โรเซ่ เพอร์เฟคแมตช์) How to Feed Me กุหลาบเวียงพิงค์ และ Lab สีหรรษาจากไฟฟอลโลว์ ชุดที่ 2 ประกอบด้วย 3 ฐานการเรียนรู้ ฐานที่ 1 “อะไรคือ เกษตรทฤษฎีใหม่” ฐานที่ 2 “ว้าว โดมหลังใหญ่พืชเขตร้อน” และฐานที่ 3 “มาเร็ว ย้อนรอยเรือนไทย 4 ภาค” กิจกรรมชุดที่ 3 มี 3 ฐาน ได้แก่ ฐานที่ 1 “แมลงตัวนั้น” ฐานที่ 2 “แมง vs แมลง” และฐานที่ 3 “คุณค่าของแมลง”
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 ท่องโลกกว้างแห่งอาณาจักรราชพฤกษ์ ศึกษาถึงความหลากหลายของพรรณไม้ รวมทั้งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่ 2 ชีวิตมีสุขด้วยศาสตร์พระราชา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และกิจกรรมที่ 3 กิจกรรมการเรียนรู้ชุด ๙ ตามรอยพ่อ
  • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วย 3 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ อนาคตสดใสอยู่ใกล้แค่เอื้อม กิจกรรมที่ 2 บ้านเฮา เฮือนไผ และกิจกรรมที่ 3 คนยุคใหม่ใส่ใจระบบนิเวศ
  • ระดับประชาชนทั่วไป มี 3 กิจกรรม กิจกรรมที่ 1 ทรัพย์จากผืนดิน แบ่งเป็น 2 ฐานการเรียนรู้ ฐานที่ 1 ความรู้คู่พัฒนา และฐานที่ 2 ลงมือทำนำไปใช้ กิจกรรมที่ 2 สินจากพนา (บอนไซ) กิจกรรมที่ 3 ล้ำค่าด้วยวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการปั้นกระถางต้นไม้จากดินเหนียว
  • ระดับผู้สูงอายุ มี 3 กิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมที่ 1 ความลับของมะเดื่อฝรั่ง กิจกรรมที่ 2 สมุนไพร ภูมิปัญญาไทยลูกประคบ และกิจกรรมที่ 3 ดื่มชาบุปผาตามฤดูกาล

­­นอกจากนี้ทางคณะศึกษาศาสตร์ยังได้จัดทำคู่มือในการจัดกิจกรรมเพื่อให้อุทยานหลวงราชพฤกษ์สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการออกแบบการจัดการเรียนรู้ของอุทยานราชพฤกษ์เพื่อสร้างความยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ หลักสูตรการเรียนรู้ในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ดังกล่าวได้รับความร่วมมือในการออกแบบกิจกรรม นำทีมโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ อาจารย์ ดร.พิมพ์พธู สุตานันต์ อาจารย์ ดร.สุนีย์ เงินยวง อาจารย์วิชญา ผิวคำ อาจารย์ศิริพร วงค์ตาคำ และ ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก และนักศึกษาในสาขาวิชาปฐมวัย สาขาวิชาประถมศึกษา และสาขาภาษาอังกฤษของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่