คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ลงพื้นที่วิเคราะห์สถานการณ์การขับเคลื่อนนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 28 ธันวาคม 2563
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 389 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ลงพื้นที่วิเคราะห์สถานการณ์การขับเคลื่อนนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่

         ทีมขับเคลื่อนโครงการพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ของคณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดี อาจารย์ ดร.ศักดา สวาทะนันทน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยะบุญธง อาจารย์ ดร.ภักดีกุล รัตนา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นงลักษณ์ เขียนงาม ลงพื้นที่โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การขับเคลื่อนนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ณ ห้องประชุมเล็ก อาคาร 92 ปี โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่

โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคมขยับแล้ว

         คุณครูอรสิริพิมพ์ บริหารธนโชติ เลขานุการงานวิจัยและนวัตกรรม โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม กล่าวว่า ทางเรามีความคาดหวังว่าโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคมจะสามารถเข้าไปเป็นหนึ่งในโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมที่ใช้หลักสูตรประเภทที่ 3 ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 25 วรรค 4 ที่โรงเรียนมีอิสระในการจัดตั้งหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและวัดประเมินผลในโรงเรียน “คิดว่าครูโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคมทั้งหมดพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะเราต้องการให้นักเรียนมีสมรรถนะต่าง ๆ ที่จำเป็นที่จะต้องใช้ในอนาคตมากขึ้น”

การบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ สู่กระบวนวิชาและการจัดทำหลักสูตร

         คุณครูณฐกฤษกา มงคล หัวหน้างานหลักสูตรโรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม กล่าวว่า ทางโรงเรียนเน้นการนำเรื่อง อาหาร น้ำ พลังงานและสิ่งแวดล้อมมาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน มีการเปิดวิชาเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาผู้เรียน รวมทั้งมีการแทรกเรื่องเหล่านี้ในการสอนกระบวนวิชาต่าง ๆ ด้วย

นอกจากนั้น ทางโรงเรียนมีหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่คิดและเขียนโดยครูแต่ละระดับชั้น คือหลักสูตรบูรณาการ “ห้องเรียนสีเขียวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนและเครือข่าย (Knowledge Based Society)” ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นำไปบูรณาการการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6  โดยแต่ละระดับชั้นจะมีการนำเอาแต่ละศาสตร์มาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน รวมทั้งมีการนำเอาความรู้ไปบูรณาการสู่ชุมชนด้วย ซึ่งหลักสูตรนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาต่อยอด

ศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียนสันป่าตองวิทยาลัย

         หัวหน้างานหลักสูตรกล่าวต่อว่า โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคมมีศูนย์ส่งเสริมอัจฉริยะภาพทางปัญญา ที่ได้รับการสนับสนุนจากศิษย์เก่าเพื่อเป็นสถานที่เพาะพันธุ์ทางความคิด และเป็นแหล่งส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนสันป่าตองวิทยาคม อีกทั้งโรงเรียนยังมีศูนย์การเรียนรู้ทั้งหมด 8 ฐานด้วยกัน ประกอบด้วย 1) ฐานห้องเรียนสีเขียว 2020 ให้ความรู้ในเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจพอเพียง 2) ฐานชีววิถี ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชและสัตว์ทั้งหมด 3) ฐานโคกหนองนา 4) SMART FARM เรียนรู้เรื่องผักไฮโดรโปนิกส์ 5) ฐานปุ๋ยพอเพียง ให้ความรู้ในเรื่องการนำวัสดุเหลือใช้มาทำปุ๋ย 6) Zero Waste ให้ความรู้ในเรื่องการจัดการขยะ 7) อาคารเบอร์ 5 ที่ให้ความรู้ในเรื่องของอาคารประหยัดพลังงาน และ 8) ต้นแบบอาคารรักษ์พลังงาน ซึ่งฐานนี้อยู่ในขั้นตอนของการกำลังดำเนินงาน

         ทั้งนี้ คณะขับเคลื่อนโครงการพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่โดยคณะศึกษาศาสตร์ มช. ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ของโรงเรียนพร้อมทั้งให้คำแนะนำเบื้องต้นในการปรับปรุงหลักสูตรการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งจัดสรรผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่โรงเรียนต้องการเข้าให้คำปรึกษาและปรับปรุงหลักสูตร โดยมุ่งสร้างพื้นฐานสัมมาอาชีพสู่การเรียนรู้บนเศรษฐกิจฐานความรู้ต่อไป