คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทและนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลสุมาลี จังหวัดเชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 4 มกราคม 2564
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 718 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทและนวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของโรงเรียนอนุบาลสุมาลี จังหวัดเชียงใหม่

            ทีมขับเคลื่อนโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ของคณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดย ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก หัวหน้าทีม พร้อมคณะประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ชรี รูปะวิเชตร์ อาจารย์ ดร.ธารณ์ ทองงอก และอาจารย์ ชัยณรงค์ จารุพงศ์พัฒนะ ลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และบริบทของโรงเรียนอนุบาลสุมาลี อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่

            คุณครูสุมาลี สุกันธา ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งโรงเรียนอนุบาลสุมาลี กล่าวถึงวิสัยทัศน์ของโรงเรียนสุมาลีว่า ในปี 2563-2566 โรงเรียนอนุบาลสุมาลีมุ่งเป็นสถานศึกษาที่จัดการการเรียนรู้แบบบูรณาการ และวิถีแห่งความพอเพียงของท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาล้านนาที่มุ่งเน้นการปฏิบัติที่แท้จริง ที่เน้นให้ผู้เรียนในระดับปฐมวัยได้เรียนรู้อย่างมีความสุข มีพัฒนาการที่สมวัยและพอเพียง มีความกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ มีทักษะด้านการคิด แก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์      

            คุณครูสุมาลี กล่าวต่ออีกว่า โรงเรียนอนุบาลสุมาลีมีนวัตกรรม ‘Sumalee Model’ ที่เริ่มจากการวิเคราะห์ปัญหา (State the problem) ใช้ภูมิปัญญาวางแผน (Use wisdom to plan) ผสานเทคโนโลยีจากต่างแดน (Merge technology) ประยุกต์ใช้แบบแผนทางพุทธธรรมและปฐมวัย (Apply the buddhism and early childhood) เรียนรู้กระบวนการ (Learn the process) ประมาณและวัดค่า (Evaluate) และสุดท้ายสร้างชีวิตให้มีประสิทธิภาพ (Efficient life) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้บนพื้นฐานวิถีไทยสู่เศรษฐกิจฐานความรู้ตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9)

            ปัจจุบัน โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ความเป็นอยู่แบบวิถีล้านนา และมีการบูรณาการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ศิลปะ อาชีพ ปรัชญาของคนในชุมชนเข้าสู่การเรียนรู้ในห้องเรียน ได้แก่ ด้านอาหาร มีการสอนทำขนมเทียน ทำห่อนึ่ง ด้านดนตรีมีการร้องเพลงจ๊อย เพลงซอ ตีกลองสะบัดชัย รวมทั้งมีการสอนฟ้อน เขียนอักษรตัวเมือง และมีการอนุรักษ์ให้ทุกคนพูดคำเมืองอีกด้วย

            หลักสูตรสุมาลีบูรณาการ มีเป้าหมายเพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 มีพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมตามวัย โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่า ‘เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน’ แต่เป็นผู้ที่สามารถพัฒนาได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่หลากหลาย ซึ่งการพัฒนาเด็กนั้นต้องยึดหลักการพัฒนาอย่างครบถ้วนทั้งวิชาการ วิชาคน และวิชาชีวิต โดนผ่านการเล่น และการเรียนรู้แบบบูรณาการที่อยู่ในวิถีของความพอเพียง มีฐานความรู้สากล และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างสมดุล

            ด้านนายสุวรรณ คำรินทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 บ้านแม่ก๊ะใต้ ต.ตลาดใหญ่ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงเรียนอนุบาลสุมาลีมีการเติบโตมาโดยตลอดทั้งในแง่ของพื้นที่และจำนวนนักเรียน โดยเอกลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสุมาลีที่โดดเด่น คือ มีความเป็นไทย อยู่แบบพอเพียง มีความกล้าแสดงออก สามารถพูดจาต่อหน้าผู้คนจำนวนมากได้ มีความฉลาดหลักแหลม และมารยาทงาม

            และจุดเด่นที่สำคัญของโรงเรียนอนุบาลสุมาลีคือ บุคลากรส่วนใหญ่ของทางโรงเรียนเป็นคนในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ รวมทั้งโรงเรียนมีการปลูกฝังด้านศิลปวัฒนธรรมไทยและล้านนาอย่างเด่นชัด มีการสร้างความร่วมมือในการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนอยู่เสมอ อดีตผู้นำหมู่บ้านกล่าว

#

เรื่อง: ปนัดดา ไชยศักดิ์ / ภาพ: ทศพร ขอนเพ็ชร