คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา จ.เชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 13 มกราคม 2564
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 940 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา จ.เชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 คณาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดย ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก หัวหน้าคณะ พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.สุนันชัย ออนตะไคร้ และ อาจารย์ชัยณรงค์ จารุพงศ์พัฒนะ ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทของโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ในจังหวัดเชียงใหม่ ให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็ว โดยมี ผู้อำนวยการพงษ์ธาดา สุภาแสน ผู้จัดการ-ผู้อำนวยการโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา พร้อมด้วยคณาจารย์ ให้การต้อนรับ

ผู้อำนวยการพงษ์ธาดา สุภาแสน กล่าวโดยสรุปว่า โรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยาได้วิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในขององค์กร และมุ่งพัฒนานักเรียนผ่านการบริหารจัดการ 4 ด้าน ดังนี้ ด้านที่ 1 วิชาการ ด้านที่ 2 ความประพฤติและความยุติธรรม ด้านที่ 3 สุขภาพอนามัยของนักเรียน และด้านที่ 4 เทคโนโลยีสารสนเทศ

นอกจากนี้ โรงเรียนได้เน้นการเอาอัตลักษณ์เชิงพื้นที่เข้ามาพัฒนานักเรียนอีกด้วย ซึ่งอำเภอฝางมีจุดเด่นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ส้มสายน้ำผึ้ง ข้าว การท่องเที่ยว ชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ และเรื่องของดอยอ่างขาง รวมทั้งมีพิพิธภัณฑ์บ่อน้ำมันฝาง แหล่งเรียนรู้ที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสำรวจปิโตเลียมในไทย

ครูชุณหพิมาน กำละ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนรัตนาเอื้อวิทยา กล่าวว่า โรงเรียนรัตนาเอื้อมีการออกแบบ “หลักสูตรท้องถิ่นการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองดี มีสัมมาชีพ สำนึกรักษ์บ้านเกิด” ซึ่งมุ่งพัฒนาผู้เรียนได้เรียนรู้ภูมิหลัง วิถีการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและทรัพยากรของอำเภอฝาง เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความรัก ความภาคภูมิใจ และเป็นกำลังสำคัญในการบำรุงรักษาให้เกิดความยั่งยืน

โดยทางโรงเรียนได้แบ่งกระบวนการเรียนรู้เรื่องเมืองฝางออกเป็น 4 กลุ่ม 6 หน่วยการเรียนรู้ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เรียนหน่วยการเรียนรู้ที่ 1 ‘ภูมิใจในบ้านเกิด’ เพื่อให้นักเรียนรู้เรื่องราวของท้องถิ่นของตนเอง เกิดความสำนึกรักษ์บ้านเกิด กลุ่มที่ 2 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เรียนหน่วยการเรียนรู้ที่ 2 ‘รวงข้าวรวงทองของเมืองฝาง’ กลุ่มที่ 3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 เรียน 2 หน่วยการเรียนรู้ คือ หน่วยที่ 3 ‘อ่างขาง หัวใจแห่งขุนเขา’ และหน่วยที่ 4 ‘ความงดงามของพหุสังคม’ และกลุ่มที่ 4 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เรียน 2 หน่วยการเรียนรู้ คือ หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 ‘ทรัพย์สินจากพื้นดินถิ่นเมืองฝาง’ และ หน่วยการเรียนรู้ที่ 6 ‘พลังงานทดแทน’

ครูชุณหพิมานกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อเรียนจบแล้วนักเรียนทุกช่วงชั้นต้องมีผลงานและเกิดสมรรถนะติดตัวไป ซึ่งจะเริ่มใช้กระบวนการเรียนการสอนนี้ในปีการศึกษา 2564 เริ่มจากระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1,4 และ มัธยมศึกษาปีที่ 1,4 โดยมีการนำปัญหาและอุปสรรคที่พบในแต่ละปีมาปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาหลักสูตรต่อไป

นอกจากนั้นแล้ว โรงเรียนยังมีวิชาชุมนุมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมตามความสนใจ ซึ่งนักเรียนหลายคนสามารถต่อยอดอาชีพจากการเข้าร่วมในวิชาชุมนุม เช่น สามารถเป็นช่างฟ้อน เป็นช่างทำกลองไทใหญ่ ทำหัวโต อุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงกิงกะหร่า–โต การแสดงของชาติพันธุ์ไทใหญ่ รวมทั้งสามารถทำอาหารไทใหญ่จำหน่ายได้

“ทางโรงเรียนต้องการให้นักเรียนมีความภูมิใจในตนเอง ภูมิใจในบ้านเกิด และต้องมีสัมมาอาชีพในการเลี้ยงตนเอง โดยเราต้องการให้เด็กค้นพบตัวตน ความชอบ ความถนัด และหนทางสู่อาชีพที่เขาต้องการตั้งแต่อยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา” ครูชุณหพิมาน กล่าวเสริม

ครูกรวรรณ พนาวงค์ ปราชญ์ชุมชน กล่าวว่า ในอนาคต ตนคาดหวังให้เด็กในพื้นที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นนวัตกรน้อย และไม่ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตน โดยมีการนำไปปรับใช้ในชีวิตอย่างพอดี ไม่สุดโต่งจนเกินไป ทั้งยังต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับวัฒนธรรมพื้นบ้านอีกด้วย