คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทโรงเรียนบ้านพันตน ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 22 มกราคม 2564
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 584 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. ลงพื้นที่วิเคราะห์บริบทโรงเรียนบ้านพันตน ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.เชียงใหม่

            เมื่อ 23 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทีมคณะศึกษาศาสตร์ มช. นำโดย หัวหน้าทีมลงพื้นที่ ดร.สุระศักดิ์ เมาเทือก พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.เพ็ชรี รูปะวิเชตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.กรัณย์ ปัญโญ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธารณ์ ทองงอก ลงพื้นที่วิเคราะห์สถานการณ์และบริบทของโรงเรียนบ้านพันตน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างเป็นระบบ

            ดร.กุญช์ภัสส์ พงษ์พานิชย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านพันตน บอกเล่าว่า โรงเรียนบ้านพันตนเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในระดับชั้นปฐมวัยถึงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ในการจัดการเรียนรู้ในทุกระดับชั้นจะใช้ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยใช้วงจรการบริหารงานคุณภาพ (PDCA) เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ โดยสร้างเครื่องมือการวัดและประเมินอิงสมรรถนะของผู้เรียนเฉพาะของโรงเรียนบ้านพันตน

            ดร.กุญช์ภัสส์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โรงเรียนบ้านพันตนมีการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรสถานศึกษาอิงสมรรถนะของผู้เรียน โดยมีการบูรณาการกระบวนการ Active Learning ผ่านปรากฎการณ์อัตลักษณ์ของบ้านพันตน และแบ่งเป็น 3 กลุ่มวิชาด้วยกัน ได้แก่ ข้าวโพดศึกษาที่ถือว่าเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ในชุมชนของฉัน และ 365 วันกับการเรียนรู้

  • วิชาข้าวโพดศึกษา เป็นการนำเอา ‘ข้าวโพด’ พืชเศรษฐกิจของชุมชนมาบูรณาการเข้าสู่การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน วิชานี้จัดอยู่ในโครงการสอนเสริมประสบการณ์พิเศษเพื่อเพิ่มศักยภาพนักเรียน จัดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งแต่ละระดับชั้นจะมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ต่างกันไป โดยสอนตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐานของข้าวโพดจนกระทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์จากส่วนต่าง ๆ ของข้าวโพด เช่น เมล็ดข้าวโพดนำมาทำน้ำนมข้าวโพด เปลือกนำมาทำดอกไม้ประดิษฐ์ ซังข้าวโพดนำมาทำถ่าน ฝอยข้าวโพดนำมาทำหอมละมุมดับกลิ่น และลำต้นนำมาทำกระดาษ อีกทั้ง ยังมีแหล่งความรู้ในชุมชนที่สามารถให้เด็กไปเรียนรู้ในสถานที่จริงได้อีกด้วย
  • วิชาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน เป็นวิชาที่สนับสนุนให้ครูผู้สอนนำเรื่องราว สถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวผู้เรียนมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เช่น ถั่วเน่าแคบ แคบหมู สาหร่ายเกลียวทอง และศูนย์การเรียนรู้ผู้สูงอายุบ้านหนองเย็น
  • วิชา 365 วันกับการเรียนรู้ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ออกแบบโดยการนำวันสำคัญที่น่าสนใจของโลกมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งวิชานี้เริ่มจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 นี้

ทั้งนี้ โรงเรียนบ้านพันตนมีกระบวนการนิเทศติดตามทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา เพื่อการพัฒนาสมรรถนะของครูผู้สอนในการจัดการเรียนการสอนทั้งระบบ

#