คณะศึกษาศาสตร์ มช. จัดกิจกรรมค่ายครูคืนถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Day Camp) โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 5 และคณาจารย์ จาก 5 สถาบัน เข้าร่วม

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 23 มีนาคม 2564
โดย : หน่วยประชาสัมพันธ์
ผู้เข้าชม : 556 คน
คณะศึกษาศาสตร์ มช. จัดกิจกรรมค่ายครูคืนถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Day Camp) โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 5 และคณาจารย์ จาก 5 สถาบัน เข้าร่วม

ในระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2564 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะประธานเครือข่ายสถาบันผลิตครูเครือข่ายภาคเหนือตอนบนฯ จัดกิจกรรมค่ายครูคืนถิ่นเพื่อพัฒนาท้องถิ่น (Day Camp) โดยมีนักศึกษาชั้นปีที่ 5 และคณาจารย์ คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จาก จาก 5 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จำนวน 115 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จำนวน 72 คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน จำนวน 1 คน มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จำนวน 1 คน และ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฎศิลปเชียงใหม่ จำนวน 1 คน จำนวนทั้งสิ้น 190 คน เข้าร่วมการอบรม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติสุดา ศรีสุข คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม 40 ปี อาคาร 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

กิจกรรมภายในประกอบด้วย การบรรยายเรื่อง "การเรียนรู้จากครูผู้มีอุดมการณ์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่การเปลี่ยนแปลงในชุมชน" จาก ดร.สมประสงค์ มั่งอะนะ ครูผู้ให้ ต้นแบบครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง การบรรยายเรื่อง "การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ...สู่ความยั่งยืน" โดย นายพิศณุ รอตโกมิล ครูโรงเรียนบ้านเวียงฝาง กิจกรรมเรียนรู้จากครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงชุมชน โดยมีการแลกเปลี่ยนให้ความรู้จากวิทยากรครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย ครูรวิวรรณ ทองศรีแก้ว ครูโรงเรียนดาราวิทยาลัย ดร.ปนัดดา ปัญฎีกา ครูโรงเรียนดาราวิทยาลัย ครูกัลยา ใจคำ ครูโรงเรียนบ้านขอบด้ง ครูประไพ ธิตา ครูโรงเรียนบ้านขบด้ง ครูชนม์ชนก แก้ววันดี ครูโรงเรียนสาธิต มช. อนุบาล-ประถม ครูรสริน หลุยจำวัน ครูโรงเรียนสาธิต มช. อนุบาล-ประถม ดร.กุญช์ภัสส์ พงษ์พานิชย์ ผอ.โรงเรียนบ้านพันตน และ ครูอาทิตย์ ลายแสง ครูโรงเรียนบ้านป่าไหน่ ปฏิบัติการออกแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการข้ามศาสตร์ กิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตนักศึกษาครูคืนถิ่นเครือข่ายภาคเหนือตอนบน ปฏิบัติการเสริมสร้างการจัดการด้านการเงิน การดูแลสุขภาพตนเอง และ นำเสนอผลการออกแบบการจัดการเรียนรู้บูรณาการข้ามศาสตร์

โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เป็นโครงการที่มุ่งคัดเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาศึกษาในวิชาชีพครู ในสถาบันการผลิตครูที่มีคุณภาพ โดยเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วบัณฑิตครู จะได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการครูตามภูมิลำเนาของตน  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำความรู้ที่มีไปพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภูมิลำเนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องสอดคล้องกับบริบทเฉพาะภายในท้องถิ่น

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จะเน้นการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในด้านคุณลักษณะ ด้านการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและด้านอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ ตามสมรรถนะที่กำหนดไว้ของนิสิตนักศึกษาครูผู้รับทุนในโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น โดยเป็นกิจกรรมที่นักศึกษาครูเครือข่ายภาคเหนือตอนบน นักศึกษาครูชั้นปีที่ 5 ร่วมกันทำกิจกรรม ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้จากครูผู้มีอุดมการณ์ ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงชุมชน ตลอดจนมีการปฏิบัติการออกแบบการจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการข้ามศาสตร์ผ่านปรากฏการณ์ทางสังคม อัตลักษณ์เชิงพื้นที่ และภาพอนาคตเป็นฐานสู่การเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง พร้อมด้วยได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการจัดการด้านการเงิน และการดูแลสุขภาพตนเอง